แปลงใหญ่ผักหวานป่า ขายทั้งยอดทั้งต้นพันธุ์ รับเงินทุกวัน ต่อยอดชาผักหวาน
กรณีศึกษา แปลงใหญ่ผักหวานป่า เมื่อผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ และการส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มของสำนักงานเกษตรอำเภอ สู่รายได้ต่อเนื่องยั่งยืน
วันนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี จะพาไปชมการรวมกลุ่มปลูกผักหวานป่าทั้งหมู่บ้าน รวมกลุ่มขายตามออร์เดอร์ ทั้งต้นพันธุ์ ทั้งเก็บยอดขาย ประหยัดแรงงานแทบไม่ต้องใช้เวลาดูแล การดูแลหลัก ๆ แค่รดน้ำและใส่ปุ๋ยคอก สร้างรายได้เกือบทุกวัน
และทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ริเริ่มมาจาก ผู้ใหญ่บ้านสมยศ มนิสสาร ผู้ใหญ่บ้าน ๆ ดอนยางเดี่ยว ต.โพนงาม อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ผู้ใหญ่สมยศกล่าวว่า เมื่อ 8 ปีก่อน ผญบ.ท่านนี้เริ่มปลูกครั้งแรกโดยที่ยังไม่มีความรู้ ปลูก 100 ต้น รอดแค่ 20 ต้น แต่ผู้ใหญ่สมยศ ไม่ได้คิดจะละความพยายาม กลับคิดว่าความล้มเหลวเป็นบทเรียน ที่ให้ความรู้อันมีค่า
ผู้ใหญ่สมยศ ก็เสาะหาความรู้ และทดลองไปเรื่อย จนมีโอกาสได้ไปเรียนรู้กับนายจันทร์ที ประทุมภา ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านการเกษตรที่จังหวัดนครราชสีมา ไปเรียนรู้ กิน นอนที่นั่น พออยู่ได้ 1 อาทิตย์ ได้เรียนรู้หลายอย่างที่น่าจะนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่บ้านได้ จึงได้กลับมาที่หมู่บ้านและนำลูกบ้านไปเรียนรู้ กับนายจันทร์ที อีก 1 อาทิตย์ ทุกคนที่ไปอบรมเรียนรู้เกิดแรงบันดาลใจ กลับมาปลูกผักหวานป่าที่บ้านทำให้ลดต้นทุนในครัวเรือน เหลือก็แบ่งขาย
ต่อมาสำนักงานเกษตรอำเภอหนองหาน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจึงมีการขยายผลรวมกลุ่มกันได้ 40 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ปลูกตามลานบ้าน ริมรั้ว รวมผลผลิตกันขาย ทำให้ปริมาณมาก ปัจุบันผู้ใหญ่สมยศ และชาวบ้านบางราย นอกนอกจากจะขายยอดแล้ว ยังเพาะต้นพันธ์ขาย ราคาต้นละ 20 บาท ปีที่ผ่านมาขายได้กว่า 5000 ต้น เป็นเงินกว่า 1 แสนบาท
(การเลือกต้นพันธ์)
ต้นพันธุ์ต้องไม่มีอายุข้ามปีต้นที่เพาะจากเมล็ด จะมีอัตรารอดและโตเร็วกว่ากิ่งตอน (ผู้ใหญ่สมยศ ทดลองปลูกเอง)
(เคล็ดลับการปลูก)
การปลูกเมื่อนำออกจากถุงเพาะต้องขุดไม่ลักมาก ถ้าขุดลึกน้ำจะขังแล้วรากเน่า
(ต้องมีไม้พี่เลี้ยง)
การปลูกต้องมีไม้พี่เลี้ยง เพราะผักหวานต้องการร่มรำไร ไม้พี่เลี้ยงที่ดีคือ ลำไย แคบ้าน ตะขบ มะขามเทศ น้อยหน่าและชะอม ไม่พี่เลี้ยงที่ไม่เหมาะ ห้ามเด็ดขาด คือ ไผ่ มะพร้าว มะขาม เพราะพืชพวกนี้รากเยอะจะแย่งอาหารผักหวานหมด ผักหวานจะไม่โตใช้เวลาปลูกปี่ครึ่งก็ได้เก็บผลผลิต และที่นี่ยังเป็นผักหวาน อินทรีย์เพราะให้แค่น้ำและปุ๋ยคอก ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดสูงจำหน่ายแค่ในชุมชนก็หมด ไม่เหลือผลผลิตให้ตลาดภายนอกเลย
(หากลูกบ้านปลูกเยอะ/ล้นตลาด)
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่สมยศ ยังคิดแผนรองรับในอนาคต หากคนในชุมชนปลูกผักหวานป่าเยอะ จนผลผลิตล้านตลาด ผู้ใหญ่สมยศได้นำใบอ่อนมาทำชาผักหวานป่า ทำให้สำนักงานพัฒนาชุมชนได้มาร่วมบูรณาการ ๆ ทำงานร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ โดยได้ประสานงานกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มาส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์คิดค้นสูตรที่เหมาะสมร่วมกับส่วนผสมจากธรรมชาติอีก 3 ชนิด เกิดเป็นชาผักหวานป่าที่มีรสชาติหอม หวานพอดี (ไม่ทำให้อ้วน) และสำนักงานเกษตรอำเภอกำลังดำเนินการผลักดันให้ได้รับมาตรฐาน อย. ต่อไป
จนในที่สุด ในปี 2563 ผู้ใหญ่สมยศ ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม (แหนบทองคำ) เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ หากในชุมชนท่าน มีของดีอะไรอยู่ในชุมชน แต่หากยังมีปริมาณไม่มาก การรวมกลุ่มกันผลิตขายให้มีปริมาณมาก เทียบเท่ารายใหญ่ ก็เป็นไอเดียที่ดึงดูดลูกค้า หรือพ่อค้าที่มารับซื้อได้ดีเช่นกัน และสำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด ก็พร้อมจะสนับสนุนครับ
890 total views, 1 views today